ในกระเป๋าเราควรใส่อะไร

ปีนี้ดูเหมือนกระแสการตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกในประเทศเรามาแรงมาก

ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งคงเป็นกระแสมาจากหลายปีก่อนนักอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก ได้ชี้ประเด็นให้เห็นว่า

ขยะพลาสติกในทะเลเป็นมหันตภัยเพียงใด

 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

วิคเตอร์ เวสโคโว นักสำรวจชาวอเมริกัน ทำลายสถิติโลกด้วยการใช้เรือสำรวจดำดิ่งเกือบ 11 กม.

หรือความลึก 10,927 เมตร ไปยังร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา

ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ที่ไม่มีมนุษย์ลงไปลึกขนาดนี้ได้

ในระดับความลึกขนาดนั้น ปราศจากแสง เขาได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกใหม่ ๆ หลายชนิด

แต่ในความมืดมิดของใต้พื้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุด

เขายังได้พบถุงพลาสติกและเปลือกลูกอมด้วย

นั่นหมายความว่า ท้องทะเล ท้องมหาสมุทรทั่วโลก

ไม่มีพื้นที่ใดรอดพ้นจากขยะพลาสติก

ประเทศไทยก็ได้รับเกียรติเป็นประเทศทิ้งขยะพลาสติกลงท้องทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก

ปีหนึ่งคนไทยทิ้งขยะพลาสติก ประมาณ 10,000 ล้านชิ้น

ถุงพลาสติกที่คนไทยใช้ใน 1 ปี นั้น ถูกเปรียบเทียบว่าหากนำมาต่อกันจะได้ระยะทางเท่ากับเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ ไปกลับ 7 รอบ

ในขณะเดียวกัน คนจำนวนมากยังไม่ทราบว่า หลายประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยยังนำเข้าขยะพลาสติกจากทั่วโลก

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมมักจะมีวิธีกำจัดขยะแบบหนึ่ง ด้วยการส่งไปยังต่างประเทศ ประหยัดต้นทุนการกำจัดขยะมากกว่า

สมัยก่อนประเทศจีนเป็นแหล่งใหญ่ในการส่งขยะพลาสติก

แต่ปัจจุบันจีนเข้มงวดมาก

ประเทศเหล่านี้จึงหันมาส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนที่ไม่ค่อยเข้มงวดในการนำเข้าขยะพลาสติก

กลุ่มกรีนพีซได้พบว่า

จากสถิติระหว่างปี 2559-2561 การนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงเกือบสามเท่าตัว จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน

หากเอาตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุขยะเหล่านี้ต้องใช้ถึงสี่แสนตู้

ในจำนวนทั้งหมด ขยะพลาสติกถูกส่งมาประเทศไทย 481,381 ตัน

สำหรับเมืองไทยคนไทยทิ้งขยะปีละ 28 ล้านตัน เป็นขยะถุงพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน

ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จำเป็นต้องฝังกลบหรือเผาอย่างเดียว

สุดท้ายปลายทางของขยะพลาสติกเหล่านี้ก็ถูกทิ้งลงสู่ แม่น้ำลำคลอง และไหลออกสู่ท้องทะเล  

ไม่แปลกใจที่กลุ่มประเทศในอาเซียนทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก

ในปี 2017 จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทย

รวมกันทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากกว่าที่เหลือทั้งโลกรวมกันเสียอีก

พลาสติกบางส่วนจะกลายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ที่เรียกว่าไมโครพลาสติก

แม้กระทั่งในดินแดนไกลสุดอย่างเกาะน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์ติกา  

นักสำรวจยังค้นพบไมโครพลาสติกในก้อนน้ำแข็ง

ชิ้นส่วนเหล่านี้ล้วนทำอันตรายแก่สัตว์น้ำจืดทุกชนิดเมื่อสะสมในร่างกายมาก ๆ  ไม่นับรวมถุงพลาสติกที่ฆ่าสัตว์น้ำปีละนับแสนตัว และฆ่านกทะเลปีละหนึ่งล้านตัว

“พลาสติก” หรือ “plastics” นั้น มาจาก ภาษากรีก”plastikos” แปลว่า

“ซึ่งสามารถหล่อหลอมให้เป็นรูปร่างต่างๆได้” เพิ่งถือกำเนิดบนโลกนี้แค่ร้อยกว่าปีเท่านั้น  

พลาสติกเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาจากขบวนการทางเคมีของน้ำมันในปีค.ศ. 1907

พลาสติกชิ้นแรกที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น นำมาใช้ทดแทนลูกบิลเลียดที่ทำจากงาช้าง

แต่ก็ได้รับความนิยมสูงมากในเวลาอันรวดเร็ว

ถุงพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีปริมาณการผลิตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับการผลิตพลาสติกชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด

โดยคิดเป็นร้อยละ 50ของปริมาณพลาสติกทั้งหมด

การลดการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพิทักษ์โลกนี้

รัฐบาลก็ตั้งเป้าว่า ในปี 2565 ไทยจะเลิกใช้ถุงหิ้วพลาสติก กล่องโฟม หลอดพลาสติก

และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย

จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ได้รับถุงพลาสติกมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกว่าสามพันแห่ง

ทุกวันนี้การที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เริ่มไม่แจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า หรือใครจะซื้อต้องร่วมบริจาคเงินเพื่อการกุศล

ห้างไม่ต้องเสียลงทุนผลิตถุงพลาสติกปีละหลายสิบล้านบาท และได้ภาพลักษณ์ขององค์กร

ในขณะที่สามารถลดขยะพลาสติกลงได้

และหลายแห่งได้รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ามาใส่สิ่งของและอาหารแทนถุงพลาสติก

แต่เป็นสิ่งที่หลายคนเป็นกังวลว่า

ถุงผ้าจะล้นบ้าน

เพราะที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน หรือหลายองค์กรพากันแจกถุงผ้าเป็นของชำร่วยมากมาย จนแต่ละบ้านแทบจะไม่มีที่เก็บ

บางคนใช้ถุงผ้าครั้งเดียวแล้วไม่เคยได้ใช้อีกเลย

ยังดีกว่าบางคนที่ได้รับถุงผ้าแล้วไม่เคยได้ใช้เลย

เราจะทำอย่างไรให้การใช้ถุงผ้ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการผลิต

เพราะการผลิตถุงผ้าล้วนมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูกฝ้ายจนกลายมาเป็นถุง

การใช้ถุงผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายหรือพืชอื่นๆ ล้วนใช้น้ำ ปุ๋ย และเคมีมากมาย รวมถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยว แปรรูป ผลิตเป็นถุงผ้าล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศ

รายงานจากเดนมาร์กบอกว่า ถุงผ้าใบเดียวต้องใช้ถึง 7 พันครั้งถึงจะคุ้มค่าในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเปรียบเทียบกับถุงพลาสติก

แต่ที่เมืองไทย จะทำอย่างไรให้กระเป๋า หรือเป้เดินทางประจำวันของเรา นอกจากจะใส่กระเป๋าตังค์ แว่นกันแดด โทรศัพท์มือถือ หลอดกาแฟ ถ้วยน้ำ ฯลฯ แล้วยังมีถุงผ้าเล็ก ๆติดตัวไป เผื่อต้องซื้อของในร้าน 

แต่ละวันแทบจะไม่สร้างขยะพลาติกเลย

นี่แหละคนรุ่นใหม่ตัวจริง

 

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s