เมื่ออินเดียเลิกใช้ถุงพลาสติกขั้นเด็ดขาด

ขณะที่กระแสการเลิกใช้ถุงพลาสติกในเมืองไทย กำลังมาแรง

ผมจำได้ว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางลึกเข้าไปในประเทศอินเดีย

 

พอออกจากสนามบินกรุงนิวเดลี เรานั่งรถบัสมุ่งหน้าไปตามสันเขา ลัดเลาะไปตามแม่น้ำคงคา

ข้ามภูเขาสูงชันหลายลูก ระยะทางห้าร้อยกิโลเมตร แต่เดินทางสองวัน จากสภาพถนน ฝนตกหนัก

ผ่าน ชนบท หมู่บ้านและเมืองเล็ก ๆ หลายเมืองจนมาสุดทางที่เมือง joshimath ตั้งอยู่ปลายเทือกเขาหิมาลัย

 

ระหว่างทาง เราสังเกตว่าตามท้องถนนอันแสนขรุขระและเจิ่งนองไปด้วยดินโคลน

แต่ก็แปลกใจเล็กน้อย ที่ไม่ค่อยเห็นขยะปลิวว่อน เหมือนกับบ้านเราหรือหลายประเทศที่ผ่านพบมา

โดยเฉพาะถุงพลาสติก ขยะยอดนิยมของคนทั่วโลก

 

จนกระทั่งวันหนึ่งเดินเข้าไปซื้อของในร้านขายของ

ขณะที่กำลังจ่ายเงิน รับสินค้า ก็สงสัยว่า ไม่มีถุงพลาสติกใส่ของให้ แต่เป็นถุงกระดาษแทน

 

สอบถามคนขาย ก็ได้คำตอบว่า ตอนนี้รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกเด็ดขาดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง

 

ฟังคำตอบเสร็จ ผมแอบดีใจกับนโยบายการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังของรัฐบาลอินเดีย

 

ส่วนตัวมีความเชื่อมาเสมอว่า วิธีการ” รณรงค์” หรือ “ขอความร่วมมือ”

จากประชาชนในการลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นวิธีการที่ไม่ค่อยได้ผล

บ้านเรามีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ผมเชื่อเสมอว่า การบังคับใช้กฎหมาย คือหนทางที่ดีที่สุดในการลดการใช้ขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลก

เหมือนอย่างที่ประเทศอินเดียประกาศใช้ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 วันสิ่งแวดล้อมโลก

นายกรัฐมนตรี นาเรนทรา โมดี ของอินเดียได้ประกาศคำมั่นที่มีเป้าหมายสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

คือการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

 

“การตัดสินใจในวันนี้คือตัวกำหนดอนาคตของเราร่วมกันในวันข้างหน้า”
นายกรัฐมนตรีโมดีพูดต่อว่า

“มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยจิตสำนึก เทคโนโลยี และความร่วมมือในระดับโลก

ผมมั่นใจว่า เราสามารถเลือกทางเดินที่ถูกได้ ขอให้เราทุกคนร่วมกันเอาชนะมลภาวะพลาสติก

และทำให้โลกนี้น่าอยู่กว่าเดิม”

 

เชื่อไหมว่า กว่าครึ่งหนึ่งของขยะทั่วโลกคือขยะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง

อาทิ ถุงก๊อบแก๊บ หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติก ซึ่งเกิดขึ้นมาไม่เกิน 20 ปี

 

แต่คนอินเดียยังสร้างขยะน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก

โดยสถิติคนอินเดียสร้างขยะพลาสติกคนละ 11 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

เมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 109 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขณะที่คนไทยสร้างขยะ 360 กิโลกรัมต่อปี

 

ไม่แปลกใจที่คนไทยติดอันดับทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลอันดับหกของโลก

 

หลายวันที่เดินทางในประเทศอินเดีย ผมลองทดลองว่า มาตรการนี้จริงจังแค่ไหน

ปรากฎว่าไม่สามารถหาซื้อถุงพลาสติกตามร้านขายของหรือห้างสรรพสินค้าได้เลย

ปัจจุบันมี 18 รัฐจาก 29 รัฐได้ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาดแล้ว

นายกรัฐมนตรีประกาศว่า อินเดียจะใช้เวลาสี่ปีคือภายในปี 2022

ในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทั้งประเทศ ที่มีประชากร 1.3 พันล้านคน

โดยครอบคลุมถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และขวดพลาสติก

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 12,000 บาทและโทษจำคุก 3 เดือน

 

แน่นอนว่าการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกพลาสติกของอินเดีย

ได้รับแรงต่อต้านจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีการยื่นฟ้องต่อศาลในหลายรัฐต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

เพราะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมพลาสติกขนาดใหญ่

 

ขณะที่ชาวบ้านทั่วไป ไม่ค่อยมีแรงต่อต้านมากนัก

เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาบ่อย ๆ ว่า วัว สัตว์พาหนะของพระศิวะ

ที่ชาวฮินดูให้ความนับถือ ตายไปหลายตัว ด้วยสาเหตุคือ

วัวไปกินขยะพลาสติกเข้าไป มีภาพวัวตายอย่างน่าสงสารออกสื่อหลายครั้ง

 

ผมเคยถามคนอินเดียว่า ทำไมรัฐบาลออกกฎหมายไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก

พวกเขาบอกว่า เพราะวัวไปกินขยะพลาสติกตามท้องถนนและตายไปเยอะแล้ว

สงสารวัว แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลดขยะพลาสติกเลย

 

การที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้ ชาวบ้านจึงไม่ค่อยบ่น

เพราะเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้วัวรอดตายจากขยะพลาสติกได้

 

เช่นเดียวกับในเมืองไทย รณรงค์เรื่องขยะพลาสติกมานาน หลายสิบปี ไม่ค่อยได้ผล

แต่พอมีข่าววาฬตายเพราะกินขยะพลาสติก การรณรงค์ได้ผลขึ้นอย่างทันตาเห็น ด้วยความเวทนาสงสารวาฬ

 

บางครั้งการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ศาสตร์หรือความรู้อย่างเดียวไม่ได้ผล

จำเป็น ต้องใช้ศิลป์ หรือเรื่องเล่านำหน้าไปก่อน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s