ช่วงเดือนมิถุนายน มีเหตุการณ์ระทึกคล้ายกันหลายแห่งเกิดขึ้น
แต่เป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ ที่ไม่เคยถูกพาดหัวเป็นข่าวใหญ่เหมือนเดิม
ข่าวแรกเกิดในย่านอุตสาหกรรมชานเมืองนอริลสค์ ในเขตไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย
เมื่อชาวเมืองหลายคนพบหมีขาวเพศเมียตัวหนึ่ง มาเดินหาอาหารกินตามท้องถนนในเมือง
เป็นหมีขาวผู้ผอมโซอดอยากมานาน
หนังสือพิมพ์ไซบีเรีย ไทมส์ รายงานว่า หมีขาวตัวนี้น่าจะเดินทางไกลมาจากคาบสมุทรเทย์มีร์
ที่ห่างออกไปถึง 1,500 กิโลเมตร
ช่างภาพผู้บันทึกภาพถ่าย ได้บอกว่า หมีขาวอ่อนแรงมาก เดินแทบไม่ไหว
เค้านอนพักเอาแรงอยู่นาน กว่าจะข้ามถนนเข้ามาในเขตอุตสาหกรรมของเมือง
หมีขาวเดินทางมาจากบ้านเกิดของตัวเองนับพันกิโลเมตร
เพราะน้ำแข็งละลาย และล่าสัตว์หาอาหารกินไม่ได้
จึงเดินทางมาเรื่อย ๆ หวังจะพบอาหารในเมือง
ไล่เลี่ยกับข่าวหมีขาวตัวนี้ มีรายงานข่าวว่า ผู้คนทางแถบเหนือก็แทบช็อก
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ได้ละลายอย่างรวดเร็วลงไปสู่ทะเลเป็นจำนวนถึง 2,000 ล้านตัน
เกือบครึ่งหนึ่งของเกาะ ในชั่วเวลาเพียงอาทิตย์เดียว
กรีนแลนด์เป็นเป็นดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของโลก
คือ อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก
และเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ 2,175,900 ตารางกิโลเมตร
หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ สี่เท่า
แม้ว่าการละลายของน้ำแข็งบนเกาะแห่งนี้จะเป็นเรื่องปกติ
แต่ที่น่าตกใจ เพราะฤดูกาลที่นั่น เพิ่งย่างเข้าสู่ฤดูร้อนเอง
จึงไม่มีใครทำนายได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากกรีนแลนด์เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัว
แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำแข็งที่ละลายในกรีนแลนด์ของปีนี้
อาจส่งผลให้ระดับน้ำในทะเลสูงขึ้นแน่นอน
จากขั้วโลกเหนือ ล่องมาทางใต้ไม่ไกลจากประเทศไทย
เทือกเขาหิมาลัยกำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
นักวิทยาศาตร์ได้พบว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเข้าขั้นวิกฤต
ทุกวันนี้ธารน้ำแข็งบนหลังคาโลกแห่งนี้ ละลายถึงปีละ 8,300 ล้านตัน
นับเป็นอัตราที่เร็วขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2518 – 2543
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาหิมาลัย ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น
การละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขานี้ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับระดับน้ำทะเล
แต่ที่สาหัสกว่านั้นคือ เทือกเขาหิมาลัยเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำนานาชาตินับสิบสาย
อาทิ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสินธุ ฯลฯ
ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
และในอนาคตไม่นาน หากน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาหิมาลัยลดลงไปเรื่อย ๆ
ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายมาเติมแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับพันล้านคนที่อาศัยอยู่ด้านล่าง
จะเริ่มขาดแคลนและก่อให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำในที่สุด
ห่างจากเทือกเขาหิมาลัยไปไม่ไกล ในดินแดนตะวันออกกลาง ประเทศคูเวต
ได้ทำลายสถิติวันที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลก เว็บไซต์กัลฟ์นิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562
ประเทศคูเวต เผชิญวิกฤตอากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิสูงที่สุดในโลก อุณหภูมิในร่ม สูงถึง 52.2 องศาเซลเซียส
และอุณหภูมิกลางแจ้ง สูงถึง 63 องศาเซลเซียส
มีรายงานว่า มีคนร้อนตายเพียงคนเดียว จากร่างกายที่ถูกแสงแดดแผดเผาเป็นเวลานาน
สาเหตุเป็นอื่นไม่ได้นอกจากปัญหาโลกร้อน
มุ่งไปสู่ขั้วโลกใต้ ดินแดนที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากที่สุดในโลก
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซ่า สำรวจพบว่า
ภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมา ใหญ่กว่ารัฐนิวยอร์ค 2 เท่า
กำลังแตกออกจากชั้นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบรอยแยกของก้อนน้ำแข็งมาหลายปีแล้ว
แต่เกิดรอยแยกใหม่ และยาวเพิ่มขึ้นทุกปี จนเชื่อว่า อีกไม่นาน
ภูเขาน้ำแข็งขนาด 1,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,00,000 ไร่
ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร จะแตกออกละลายสู่มหาสมุทร
ทุกวันนี้น้ำแข็งทั่วโลกละลายปีละมากกว่า 370,000 ล้านตัน
มากกว่าเมื่อห้าสิบปีก่อนถึงห้าเท่า
ผู้เชียวชาญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เตือนเราว่า
หากชาวโลกสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จตอนนี้
แต่น้ำแข็งก็ยังจะละลายต่อไปอีก10—30 ปี
สาเหตุทั้งหมด ก็มาจาก ปัญหาโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากก๊าซเรือนกระจก
โดยเฉพาะปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศ
นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงว่า หากปริมาณก๊าซชนิดนี้เกิน 400 ppm
(โมเลกุลในทุก ๆ 1 ล้านโมเลกุลของมวลอากาศ หรือ (parts per million) หายนะของโลกมาเยือนแล้ว
แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ตรวจพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
เพิ่มสูงสุดในประวัติศาสตร์นับแต่เริ่มมีการบันทึก
โดยพบว่าก๊าซเรือนกระจกนี้สูงมากกว่า 415 ppm เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 3 ล้านปี
นับเป็นสัญญาณเตือนภัยในขณะที่มนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซชนิดนี้อย่างไม่ลดละ
อากาศอันร้อนจัด และน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว คือผลพวงจากสิ่งเหล่านี้
สุดท้ายคนรุ่นหลังกำลังรับเคราะห์กรรมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุดนักวิทยาศาสตรจากสหรัฐและอังกฤษพบว่า
ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายเร็วขึ้นถึง 3 เท่าในแค่ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่า อัตราการละลายเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างน่าตกใจ
จนไม่อาจคำนวณได้ว่า น้ำทะเลจะสูงขึ้นเพียงใด และเมื่อไรน้ำจะท่วมเมืองชายฝั่ง
เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า
ความรู้วิทยาศาสตร์ของมนุษย์ทุกวันนี้ ไม่เพียงพอจะทำนายผลกระทบของโลกร้อนได้อย่างแม่นยำ
อีก 10 ปี 20 ปี หรือเร็วกว่านั้น
กรุงเทพมหานคร ก็มิอาจรอดได้ จากน้ำท่วม
อะไรที่ไม่เคยเห็น ชีวิตนี้โปรดติดตามดูด้วยใจระทึก
So sad the pour withe bears and everry body in this World.
LikeLike