คงมีไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ ที่มีสุสานของกวี ยิ่งใหญ่พอ ๆกับสุสานผู้นำประเทศ
Shiraz เป็นเมืองโบราณของอาณาจักรเปอร์เซียมาร่วม สี่พันกว่าปี
เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศอิหร่าน
ในสมัยราชวงศ์ซานด์ระหว่างปีค.ศ. 1750-1800
คนทั่วไปอาจได้คุ้นเคยกับคำว่า ชิราซ Shiraz
ในฐานะองุ่นพันธุ์เลิศรสที่นำมาผลิตไวน์พันธุ์ Shiraz มีเปลือกสีม่วงแดงจัด มีสารแทนนินสูง
ทำให้ไวน์มี body หนักแน่น เมืองนี้คือแหล่งกำเนิดองุ่นพันธุ์นี้
แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้มีการผลิตไวน์แล้ว
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนแวะมาเมือง shiraz ไม่ได้มาชิมองุ่น
แต่ตั้งใจมาคารวะสุสานกวีเอกนามอุโฆษของชาวอิหร่าน นาม ฮาเฟซ (Hafez)
ฮาเฟซ เป็นคนเมือง ชิราซ เกิดและตายที่นี่ (ค.ศ.1315-1390)
ตลอดชีวิตของท่านได้แต่งบทกวีไว้จำนวนมาก
ผลงานของเขาประกอบด้วยวรรณกรรมชุดของเปอร์เซีย (Diwan)
เป็นบทกวีที่ได้รับการยกย่องว่างดงาม ไพเราะ คมคาย มีความหมายลึกซึ้งกินใจ
ทั้งตัวท่านเองยังครองตัวได้เป็นแบบอย่างให้กับคนทั่วไป แม้จะไม่ได้เป็นนักบวช
จนได้รับการยกย่องเป็นกวีเอกของอิหร่าน
“ปลูกพฤกษาแห่งมิตรภาพไว้
ซึ่งความปรารถนาแห่งหัวใจนั้นนำไปสู่ผล
ถอนทึ้งพุ่มไม้แห่งความเป็นศัตรูขึ้นมา
ซึ่งมันนำความยุ่งยากลำบากนับไม่ถ้วนมาให้”
คนอิหร่านอาจไม่รู้จักชื่อกษัตริย์ทุกคน
แต่สำหรับกวีเอกคนนี้ คนอิหร่านทุกคนรู้จักดี
แม้ท่านจะตายไปหลายร้อยปีแล้ว
แต่ความนิยมบทกวีของฮาเฟซยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
รวมไปถึงประเทศอัฟกานิสถาน และทาจิกิสถาน
กล่าวกันว่า บ้านทุกหลังในอิหร่าน จะมีหนังสือสองเล่ม
เล่มแรกคือคัมภีร์อัลกุรอาน ของชาวมุสลิม
เล่มที่สองคือ บทกวีของฮาเฟซ
หากช่วงใดใครมีปัญหาชีวิต
พวกเขาจะหยิบบทกวีของท่านมาอ่าน
บทกวีของท่านช่วยได้เสมอ
ชาวอิหร่านปรึกษาฮาเฟซทุกเมื่อที่ต้องการ
โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวอิหร่าน โนรูซ (Norooz) ซึ่งเป็นปีใหม่ของอิหร่าน
เมื่อคนอิหร่านมีปัญหาชีวิต เขาจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน สองบท เพื่ออวยพรให้กับฮาเฟซ
แล้วจึงเปิดหนังสือของท่านหน้าในหน้าหนึ่ง
ข้อความในหนังสือหน้านั้นจะเปิดเผยคำตอบในการแก้ปัญหาชีวิต
ฮาเฟซ ไม่ใช่แค่กวีธรรมดา ลุ่มลึก แต่อ่านง่าย คนธรรมดาเข้าถึงได้
และชี้ทางสว่างให้กับผู้คนได้เสมอ
คนอิหร่านมาเมืองชีราซ ส่วนใหญ่ตั้งใจมาคารวะสุสานท่านผู้นี้
สุสานของฮาเฟซ มีขนาดใหญ่พอควร เมื่อเดินเข้าไป
จะเห็นบ่อน้ำเป็นทางยาวสองข้างขนาบด้วยพุ่มดอกกุหลาบตลอดแนว
มีการปลูกต้นไม้ให้ภายในร่มรื่นย์ ตามสไตล์ของการแต่งสวนแบบเปอร์เซีย
ชิราซเป็นเมืองแห่งดอกกุหลาบ แม้กระทั่งชื่อ กุหลาบ ก็มาจากคำว่า
โกหลับ ของภาษาเปอร์เซีย แปลว่า น้ำดอกไม้
เมื่อเดินไปสุดบ่อน้ำ จะเห็นโดมขนาดใหญ่ ข้างในเป็นสุสานทำด้วยหินอ่อน
สีขาวปนเขียวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แต่ละวันสุสานของท่านจะมีผู้คนมาเยี่ยมคำนับมากมาย
ผู้เขียนเห็นคนอิหร่านหลายคน เอาบทกวีของท่านมานั่งอ่านต่อหน้าสุสาน
มีการเปิดบทเพลงที่ประพันธ์โดยบทกวีของท่านภายในสุสาน
คนอิหร่านจะเข้าคิวต่อแถวมาแตะแท่นหินอ่อน สวดมนต์ให้ท่านด้วยความสงบ
ดูแล้วขนลุก รู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของกวีเอกท่านนี้
ทุกวันนี้ในประเทศอิหร่าน ฮาเฟซ กลายเป็นกวีเอกที่ได้รับการเทิดทูนมากขึ้น
บทกวีของเขาไม่เคยล้าสมัย
สำหรับชาวอิหร่านแล้ว คำว่า กวี มีความหมายใกล้เคียงกับ ปัญญา
นั่นหมายความว่า กวีคือผู้นำทางปัญญา ชี้ทางสว่าง
มีอิทธิพลทางความคิดและจิตใจต่อประชาชน
ประเทศนี้จึงยกย่องกวีมากกว่านักการเมือง
นักการเมืองผ่านมาแล้วผ่านไป แต่กวีผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในใจของประชาชนเสมอ
เพราะบทกวีอันทรงพลังล้วนเป็นอมตะเสมอ
ไม่ต่างจากคำสอนของศาสดาสำคัญของโลก
แม้เวลาจะ ผ่านไปนับพันปี ยังมีคนอ่านเสมอ
เป็นบทกวีที่ไม่ตายไปจากความทรงจำของผู้คน
ชีวิตของกวีเอกจึงมีผู้คนศรัทธาเสมอ
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีคนกล่าวว่า
อิหร่านได้ส่งมอบของขวัญดีงามให้แก่ชาวโลกสามประการคือ
หนึ่ง พรมเปอร์เซีย
สอง ภาพวาดขนาดจิ๋ว
สาม บทกวี
ย้อนมาดูบ้านเรา
ยังไม่เห็นกวีท่านใดที่มีผลงานอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ
ได้รับการยอมรับมากต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ซ้ำร้ายบางคน เป็นกวีมีชื่อเสียงอยู่ดี ๆ ไม่ชอบ
อยากเป็นนักการเมืองมากกว่าเป็นกวี