7นาทีมหัศจรรย์ในรถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น

 

ฟูกูโอกะ เป็นเมืองเก่าแก่ในเกาะคิวชู เกาะใหญ่ทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น

เป็นศูนย์กลางทางด้านแฟชั่น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ประชากรหนาแน่นแต่การจราจรไม่ติด

ใครเคยไปก็พอเข้าใจได้ว่าเหตุใด

ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของเอเชีย

เมืองแห่งนี้มีระบบการจราจรดีเยี่ยม

ประชาชนสามารถใช้บริการจากรถเมล์ รถราง รถไฟ

จนแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว

 

ในปี พ.ศ.2554 ทางการได้มีการเปิดใช้รถไฟหัวจรวดชินกันเซ็น แห่งคิวชู

เป็นครั้งแรกบนเกาะนี้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนม่โอกาสมาเยือนเกาะแห่งนี้

สิบกว่าวันบนเกาะคิวชู ผู้เขียนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงหลายครั้งในการเดินทาง

 

ที่ห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟ 

ผู้เขียนเลือกซื้อบัตรรถไฟชิงกันเซ็งแบบ rail pass หรือตั๋วเหมาจ่ายรายอาทิตย์

คือจะเดินทางกี่ครั้งก็ได้ภายในหนึ่งอาทิตย์

ซื้อตั๋วเสร็จแล้วเดินไปตามป้ายที่มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟธรรมดา

และรถไฟความเร็วสูง

พาตัวเองเข้าไปยืนรอตรงชานชาลาให้ตรงกับหมายเลขตู้โบกี้บนตั๋ว

 

สังเกตเห็นมีเจ้าหน้าที่สาวยืนอยู่ที่ชานชาลาทุกโบกี้

คอยชี้แนะให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างแข็งขัน 

เห็นพนักงานทำความสะอาดมาเช็ดบันไดเลื่อนทุกซอกทุกมุม

 

เสียงเพลงแต่ละเพลงในสถานีล้วนมีความหมาย

เพลงเปลี่ยนไปตามขบวนรถไฟแต่ละสายที่เข้ามา

เพื่อให้คนพิการได้ทราบว่ารถไฟขบวนใดกำลังเข้าสถานี

 

พอถึงเวลาที่ระบุในตั๋ว รถไฟหัวจรวดก็มาจอดเทียบท่า

ตรงเวลาเป๊ะ

ไม่แปลกใจที่เราได้ข่าวเสมอว่า หากขบวนรถไฟล่าช้าไม่กี่นาที

ทางการต้องออกมาขอโทษผู้โดยสาร

เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเวลาเป็นของมีค่าสำหรับทุกคน

 

ชินกันเซ็น แปลว่า สายทางไกลสายใหม่

 เป็นชื่อเรียกเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น

โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของ เปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507

ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว  

และขยายโครงข่ายไปทั่วประเทศ

แต่เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลจนการรถไฟญี่ปุ่นเป็นหนี้จนแทบล้มละลาย

จนในที่สุดต้องแปรรูปให้บริษัทเอกชนสี่แห่ง

รับมาดำเนินการต่อเมื่อยี่สิบกว่าปีกว่าปีก่อน

 

ทุกวันนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีระยะทางประมาณ 2,800 กิโลเมตร

วิ่งด้วยความเร็ว 240-320 กม./ชั่วโมง

และเคยทำลายสถิติโลกวิ่งด้วยความเร็ว 603 กม./ชม.

ในโลกนี้ รถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพมีสามประเทศคือ

เยอรมนี ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

 

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหัวขบวนรถไฟหัวกระสุนจึงมีสภาพคล้ายปากนกยื่นออกมา

https://www.howitworksdaily.com/how-nature-inspires-technology/

 

คำตอบคือรถไฟความเร็วสูงยุคแรก ๆ เมื่อแล่นผ่านอุโมงค์

จะเกิดคลื่นความดันของอากาศ จากความเร็วของรถไฟพุ่งผ่านอากาศจน

เกิดเสียงโซนิกบูมดังมาก เป็นมลพิษทางอากาศของประชาชนแถวนั้น 

ซึ่งวิศวกรก็แก้ไขไม่ได้สักที

 

จนกระทั่ง วันหนึ่ง อิไอจิ นาคัตสุ วิศวกรนักดูนก ได้ออกไปดูนกตามธรรมชาติ

และได้สังเกตเห็น นกกระเต็น เอาหัวพุ่งจากอากาศที่มีความต้านทานต่ำ

ลงสู่ผิวน้ำที่มีความต้านทานสูง เพื่อจับปลา โดยน้ำกระเซ็นเพียงเล็กน้อย

จึงเกิดความคิดที่จะออกแบบหัวรถไฟตามแบบปากของนกกระเต็น

 

หัวรถไฟเลียนแบบธรรมชาติคล้ายปากยาวยื่นออกมา

เลียนแบบนกกระเต็น เมื่อแล่นออกจากอุโมงค์สามารถลดเสียงดังได้จริง

และประหยัดพลังงานอีกด้วย

 

ผู้เขียนเข้าไปในตู้โดยสาร ภายในโบกี้สะอาดตา

เบาะที่นั่งสบายไม่อึดอัด

สังเกตว่ามีอักษรเบลตรงด้านบนของที่นั่ง เพื่อผู้พิการทางสายตา

สักพักรถไฟก็เร่งความเร็วเกือบสามร้อยกิโลเมตร แต่ไม่รู้สึกถึงความเร็ว

 

พนักงานเก็บตั๋วเดินมาดูความเรียบร้อย

แต่ไม่ได้ตรวจตั๋วโดยสาร

เช่นเดียวกับตอนเดินเข้าชานชาลาก็ไม่มีใครมาดูตั๋ว rail pass

 

ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่ไว้วางใจกัน

ไม่โกงหรือเอาเปรียบกัน

การไม่ตรวจตั๋วจึง ถือเป็นการให้แสดงความเคารพกันอย่างแท้จริง

 

เจ้าหน้าที่วางใจผู้โดยสารว่าซื้อตั๋วทุกคน

จึงให้เกียรติไม่ต้องเสียเวลาตรวจ

การตรวจหมายถึงไม่วางใจกันและกัน

 

วันต่อมา ผู้เขียนมารอรถไฟที่สถานีปลายทาง

เห็นพนักงานทำความสะอาดอายุเฉลี่ย 52 ปี

นับสิบคนยืนรอแถวตรงอยู่ประจำตู้โบกี้

ก่อนรถไฟหัวจรวดชินกันเซ็นจะเข้าเทียบชานชาลา

พอรถไฟจอดเทียบท่า

ประตูเปิด พนักงานจะโค้งคำนับให้กับรถและผู้โดยสาร

และเข้าไปทำความสะอาดอย่างรวดเร็ว

พนักงานแต่ละคนจะทำความสะอาด 100 ที่นั่งในตู้โดยสาร

ต้องจัดการเศษขยะตามจุดต่างๆ

แล้วพนักงานต้องตรวจสอบชั้นวางของบนศีรษะ

เช็ดทำความสะอาดถาดรองอาหารที่ติดอยู่หลังเบาะที่นั่ง

เปิดผ้าม่านหน้าต่างของทุกที่นั่งให้เรียบร้อย

ถูพื้นทางเดินให้สะอาดทุกซอกมุม

กดปุ่มปรับให้ทุกเบาะหันหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 7 นาที เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริการ

และการตรงเวลา ซึ่งเป็นระบบจัดการที่น่าทึ่ง

ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็น

“7 นาทีมหัศจรรย์ในชินกันเซ็น”

 

พอผู้โดยสารเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความสะอาดของตู้โดยสาร

 

ใครมาลองใช้ห้องน้ำจะรู้ว่าสะอาดกว่าสายการบินประจำชาติหลายสาย

 

การออกแบบภายในขบวนรถไฟของชินคังเซ็นก็ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย

อาทิเช่น การออกแบบที่นั่งตรงกลางให้กว้างกว่าที่นั่งริมทางเดินและที่นั่งริมหน้าต่าง

จนกลายเป็นตำแหน่งที่นั่งได้สบายกว่า

เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่

มักจะไม่ชอบนั่งตำแหน่งตรงกลางสำหรับที่นั่งที่มีสามที่ติดกัน

 

รถไฟญี่ปุ่นชนะใจคนสามประการเองคือ

รวดเร็ว ตรงเวลา และสะอาด

งานบริการคือหัวใจของการเดินรถไฟ

คนญี่ปุ่นถูกสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ดูแลคนอื่นก่อนตัวเอง

 

กิจการรถไฟของเขาจึงเจริญก้าวหน้ามาก

ทั้งๆที่เริ่มต้นกิจการรถไฟมาไล่เลี่ยกับไทย

 

บ้านเรากำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง ถามว่า

งานบริการเป็นอย่างไรบ้างครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s