กินหมูกระทะ สะเทือนถึงไฟป่า

 

เมื่อสิบกว่าปีก่อน

ผู้เขียนเคยอ่านรายงานฉบับหนึ่งของ

กลุ่มกรีนพีซ 

ออกมาแถลงว่า

 

การกินแฮมเบอเกอร์ของชาวอเมริกัน

มีส่วนในการทำลายป่าอะเมซอน

 รายงานข่าวชิ้นนั้นได้เชื่อมโยง

ให้เห็นว่า แต่ละปี 

ป่าอะเมซอนป่าผืนมหึมาในทวีปอเมริกาใต้

แหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนสำคัญให้กับชาวโลก

 

ได้ถูกชาวบ้านเผาบุกรุกเพื่อแผ้วถางป่า

ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ปีละ 15 ล้านไร่

โดยชาวบ้านได้รับการสนับสนุน

ให้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง

มีบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติมารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร

 

ถั่วเหลืองและข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปมาทำอาหารสัตว์

เพื่อเลี้ยงวัว หมู ไก่จำนวนหลายสิบล้านตัว 

ก่อนที่สัตว์เหล่านี้จะถูกเข้าโรงฆ่าสัตว์

แยกชิ้นส่วนมาทำเป็นเนื้อสัตว์นานาชนิด

 

ที่สำคัญคือเนื้อแฮมเบอเกอร์หรืออาหารฟาสต์ฟู้ดป้อนให้กับร้านอาหารทั่วสหรัฐอเมริกา

และส่งไปจำหน่ายทั่วโลกด้วย

คนอเมริกันครองแชมป์ประเทศที่กินเนื้อมากที่สุดในโลก

คือคนละ 120 กิโลกรัมต่อปี

 

ดังนั้นเมื่อคนอเมริกันหม่ำแฮมเบอร์เกอร์

 เนื้อสเต๊ก หรือไก่ทอด 

พึงระลึกไว้เสมอว่า

พวกเขามีส่วนในการทำลาย

ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดในโลก

อันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 

แหล่งผลิตออกซิเจน และป่าต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำอะเมซอน

 

แต่ปัจจุบัน สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป

เมื่อประเทศจีนกลายเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์อันดับต้น ๆของโลก

 

เนื้อสัตว์ในที่นี้หมายถึง

เนื้อหมู สัตว์ปีก เนื้อวัว ฯลฯ

 

หลายสิบปีก่อน 

เศรษฐกิจของประเทศจีนยังไม่ได้ดี

คนยากจนเยอะ เนื้อสัตว์ราคาแพง 

คนจีนกินเนื้อน้อย เพียงปีละสองสามมื้อ

เนื้อเป็นอาหารของคนมีอันจะกิน 

เรียกกันว่า เนื้อเงินล้าน

 

แต่ตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้น

คนจีนกินเนื้อเกือบทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ

 

เมื่อสามสิบปีก่อนประชากรจีน

มีประมาณ 1,000 ล้านคน

กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 13.5 กิโลกรัมต่อปี 

ตอนนี้ประชากรเพิ่มเป็น 1,400 ล้านคน

 เฉลี่ยกินเนื้อสัตว์คนละ63 กิโลกรัมต่อปี 

 

คิดเป็นปริมาณเนื้อรวมกัน

88 ล้านตันต่อปี

หรือประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อสัตว์ที่ประชากรทั้งโลกกิน

 

แม้คนจีนจะกินเนื้อสัตว์น้อยกว่า

คนอเมริกันที่กินเฉลี่ยปีละ 120 กิโลกรัม 

แต่ถ้ารวมประชากรจีนแล้ว

คนจีนนำโลด

 

ขณะที่คนจีน บริโภคเนื้อมากขึ้น 

คนอเมริกันและคนยุโรป

มีแนวโน้มกินเนื้อสัตว์น้อยลง

จากปัญหาด้านสุขภาพ 

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า

เนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ 

 

และเมื่อไม่นานมานี้

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า

 การทำปศุสัตว์ วัว หมู ไก่ แกะ หลายร้อยล้านตัวทั่วโลก

มีส่วนสำคัญในการผลิตก๊าซเรือนกระจก

 

จากการตดของปศุสัตว์เหล่านี้

 

ทำให้ปลดปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสู่อากาศ

ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

 คิดเป็นร้อยละ 14 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ของภาคคมนาคมขนส่งทั้งภาค 

 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน

การบริโภคเนื้อของคนทั่วโลกเป็นขาขึ้น 

 

ในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา

ทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านตัน

เป็น 300ล้านตันต่อปี 

จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 3

เป็น 7 พันล้านคน 

 

และเมื่อรายได้ดีขึ้น การบริโภคเนื้อก็ตามมา

ดังตัวอย่างประเทศจีน

 

 

ทุกวันนี้คนบนโลกกินเนื้อหมูมากที่สุด

 

แต่คาดการณ์ว่า ในปีพ.. 2565 

คนจะกินเนื้อไก่มากที่สุดในโลกแทนที่เนื้อหมู 

 

จากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเนื้อชนิดอื่น กล่าวคือ

 เนื้อวัว 1 กก. ใช้อาหารสัตว์คือ ข้าวโพด 11 กก

เนื้อหมู 1 กก. ใช้ ข้าวโพด 7 กก.

เนื้อไก่ 1 กก. ใช้ ข้าวโพด 4 กก.

 

เมื่อความต้องการบริโภคเนื้อของคนจีนมีมากขึ้น

 ก็กระทบกับภูมิภาคทั่วโลก 

 

ความต้องการข้าวโพด ถั่วเหลือง

 เพื่อทำอาหารสัตว์จึงเพิ่มขึ้นมหาศาล 

 

จีนนําเข้าผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองจากบราซิลถึงร้อยละ 20

ของถั่วเหลืองทั้งหมดที่บราซิลส่งออก 

 

ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าของประเทศพม่า ลาว เวียดนาม จำนวนหลายล้านไร่

กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่

 

โดยเฉพาะที่รัฐฉานของประเทศพม่า 

เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ของบริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ของไทย

ที่เข้าไปลงทุนมาหลายปี

เพื่อส่งข้าวโพดไปเมืองจีน 

 

ในช่วงเวลานี้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จ

การทำลายซากไร่ที่สะดวก

รวดเร็วและประหยัดที่สุดคือการเผา

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25-29 มีนาคมที่ผ่านมา

 ค่า PM 2.5 ที่รัฐฉาน

ขึ้นไปถึง 700 – 2000 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

แน่นอนว่าควันส่วนหนึ่ง

ลอยเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ 

 

และถ้าดูทำเลที่ตั้งและทิศทางลม

จังหวัดเชียงใหม่โดนรมควันเต็ม

 

ไม่รวมถึงควันไฟทางตอนเหนือของประเทศ

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า 

ส่วนหนึ่งมาจากการเผาซากไร่ข้าวโพด

หลังฤดูเก็บเกี่ยว  

 

จากนโยบายของรัฐบาลหลายสมัย

ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดนับล้านไร่

จากปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศขาดแคลน 

และอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์เติบโตต่อเนื่อง

 

แน่นอนว่า คนไทยก็บริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น

กินเฉลี่ยคนละ 23 กก.ต่อปี

ความต้องการข้าวโพดก็มากขึ้น

และอาหารสมัยใหม่ ล้วนแต่มีเนื้อเป็นส่วนประกอบสำคัญ

อาทิหมูกระทะ อาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย

 

ยิ่งกินเนื้อมาก

ก็มีส่วนในการเกิดไฟป่าทางอ้อม

ไม่มีอะไรได้มาฟรี

 

ทุกสิ่งทุกอย่างมีรายจ่ายกันทั้งนั้น

เพียงแต่ว่า เราไม่เคยเอาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

มาเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายหรือไม่

 

สมัยก่อนเรามีคำพูดว่า

“เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว

 

เดี๋ยวนี้ควรพูดว่า

กินหมูกระทะ สะเทือนถึงไฟป่า

 

ภาพโดย สาวน้อยร้อยชั่ง

 

 

 

.

 

 

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s