การมองเห็นทางช้างเผือกกลางทะเลอันดามันตอนตีสาม
เป็นเรื่องที่ไม่เห็นบ่อยนัก
ยิ่งมืดดาวยิ่งพราวฟ้า ยิ่งกระจ่างกลางทะเล
มองไปข้างหน้าเห็นแต่ความมืด
มองกลับไปชายฝั่ง ไฟถนนยังสว่างอยู่ไกลลิบๆ
การออกเรือกลางทะเลลึก มีเรื่องจดจำทุกครั้ง
กลางเดือนกรกฎาคม เมื่อหลายปีก่อน
ฤดูมรสุมกำลังมาเยือนทะเลฝั่งตะวันตก
ผมมายืนอยู่หน้าท่าเรือปากบารา
เรือประมงเข้าฝั่งกันหมดแล้ว แพปลาไร้ผู้คน คนงานตั้งวงเตะตะกร้อ
เรือรับนักท่องเที่ยววิ่งไปตามเกาะต่าง ๆ จอดสนิท ฤดูนี้นักท่องเที่ยวไม่เยอะ
เพราะเกาะตะรุเตาปิดชั่วคราวไม่ให้คนขึ้นฝั่ง จากคลื่นลมแรง
ปากบารา แต่เดิมมีชื่อภาษามลายูว่า “กัวลาบารา” แปลว่า เมืองหน้าด่าน
ในอดีตเป็นท่าเรือสำคัญเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเกาะปีนังไม่ว่าจะเป็น ถ่าน ปลาเค็ม
หอยแห้ง เป็ด ไก่ มะพร้าวแห้ง ยางพารา บุหรี่ น้ำมันก๊าด น้ำตาล ผ้าปาเต๊ะ
จนปัจจุบันได้กลายเป็นท่าเรือสำคัญของนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปตามเกาะแก่งต่าง ๆ
อันมีชื่อเสียง อาทิ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะไข่ และ หมู่เกาะเภตรา
ผมเห็นชาวมุสลิมชุดขาวยืนดูพระอาทิตย์ตกดิน เดินเข้าไปทักทายด้วย
ทราบว่าเป็นนักท่องเที่ยวมาจากจังหวัดนราธิวาส
ผมเพิ่งทราบว่า ชายทะเลปากบารา จังหวัดสตูลเป็นแหล่งพักผ่อนขึ้นชื่อของ
พี่น้องมุสลิมจากสามจังหวัดภาคใต้ นิยมมาเที่ยวที่นี่ทะเลสวย เงียบสงบ
ปลอดภัยปราศจากเสียงปืนและระเบิด
สตูลเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามัน
คำว่า สตูล มาจากภาษามลายูคำว่า “สโตย” มีความหมายว่า
กระท้อน ผลไม้ขึ้นชุกชุมบริเวณนี้
เป็นเมืองเก่าแก่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทรบุรี
ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475
ดวงอาทิตย์กลมโตสีส้มค่อย ๆ ตกลงขอบทะเล แต่มีเมฆหนาคอยบดบัง
จนเรามองไม่เห็นตอนตะวันลับขอบทะเล
แต่แสงสีทอง ม่วง ส้มยังอาบท้องฟ้า ขับให้มวลเมฆเปล่งประกาย
สวยระยับ จนมิอาจละสายตาได้
เมื่อความมืดเริ่มมาเยือน ผมออกจากท่าเรือ แปลกใจที่ถนนทางเข้าท่าเรือปากบารา
เป็นถนนขนาดใหญ่สี่เลน คนแถวนั้นบอกว่า สร้างเตรียมไว้รองรับท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
ผมมาในช่วงพี่น้องมุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
(เดือนที่เก้า ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม)
คือให้เริ่มถือศีลอดตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนตะวันลับฟ้า
ในช่วงดังกล่าวนี้ห้ามการกินการดื่มทุกประเภท
ไม่แปลกใจที่ร้านอาหารริมทะเลเงียบเหงามาก
นักท่องเที่ยวร้างลา ชาวบ้านก็ถือศิลอด ร้านอาหารที่เรานั่งมีเพียงโต๊ะเดียว
ระหว่างอาหารมื้อค่ำกับเพื่อนชาวปากบารา
พวกเขาได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่กำลังคืบคลานเข้ามาว่า
ชาวบ้านคิดอย่างไร เพื่อนบอกว่า
ตอนแรกชาวบ้านก็เห็นด้วยจากคำชี้แจงของทางกรมเจ้าท่า
เพราะนึกว่าจะมีการสร้างงาน ทำให้คนพื้นเมืองมีงานทำ
ความเจริญจะเข้ามา ทำให้เงินทองไหลมาเทมา
แต่เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาเรื่อย ๆ ถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสัตว์น้ำ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเริ่มสงสัย และไม่แน่ใจว่า
การสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้จะนำความเจริญ
สร้างรายได้และความสุขสงบมาให้ผู้คนในชุมชนจริงหรือไม่
หรือมีแต่ปัญหามากมายที่กำลังจะตามมา
สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ฝูงปลาหายไป
และคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือคนมีเงินจากนอกพื้นที่เท่านั้น
แม้รัฐบาลทหารจะประกาศเดินหน้าโครงการเต็มสูบ
แต่ดูเหมือนแรงต่อต้านในท้องถิ่นก็เข้มแข็ง ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
ก่อนกลับผมเอ่ยถามเพื่อนท้องถิ่นว่า
อยากออกเรือไปดูการจับปลาของชาวประมงพื้นบ้านสักครั้งหนึ่ง
เพื่อนบอกว่า ไปไหมคืนนี้ตีสอง นั่งเรือเล็กออกทะเลลึกไปประมาณสองชั่วโมงกว่า
วางอวนจับปลาทู แต่ช่วงนี้หน้ามรสุม คลื่นลมแรง กล้าไหมเสี่ยงเหมือนกันนะ
หากสนใจจะติดต่อให้พรรคพวกให้
ผมไม่คิดอะไรมาก ตอบตกลงทันที
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในการออกทะเลจับปลา จำได้ว่า
คืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน พอตะวันลับฟ้า ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งติดแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม
ผมออกเรือไปกับไต้ก๋งเรือประมงอวนลากลำใหญ่ มุ่งหน้ากลางอ่าวไทย
พร้อมกับเรือประมงอีกหลายสิบลำเพื่อวางอวนจับปลาทู
เราใช้เวลาทั้งคืน ติดตามฝูงปลาทู เรือวิ่งไปถึงหน้าเมืองประจวบฯ
ก่อนจะวกกลับมากลางอ่าวรูปตัว ก
และวางอวนขนาดยักษ์ร่วมสองชั่วโมง ยกอวนขึ้นมาครั้งหนึ่ง
เห็นปลาทูนับหมื่นตัว มูลค่าหลายแสนบาท แต่บางครั้งก็ไม่ได้เลย
ตีสองผมมายืนรออยู่หน้าท่าเรือปากบารา
เรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือหัวโทงลักษณะเป็นเรือหางยาวขนาดใหญ่หลายสิบลำ
ลอยลำอยู่หน้าท่าเรือ
หลง หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเจ้าของเรือลำหนึ่งแนะนำตัวเองว่า
จะให้ผมขึ้นเรือของเขา และไม่พูดอะไรมาก
เขาพาผมลัดเลาะกระโดดข้ามไปตามเรือที่จอดอยู่เป็นแพ
ก่อนจะมาถึงเรือของเขาที่จอดอยู่ด้านนอกสุด
หลงกับเพื่อนอีกคนเริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ออกเรือทันที
เรือค่อย ๆ แล่นออกไปสู่ทะเลด้านหน้า พร้อมเรือประมงเล็กหลายลำ
ตอนแรกที่ออกจากท่า หลงฉายไฟหน้าเรือ
แต่เมื่อพ้นปากอ่าวแล้ว หลงดับไฟ เราอยู่กลางความมืดมิดจริง ๆ
มองไปข้างหน้าไม่เห็นอะไรเลย นอกจากเสียงเครื่องยนต์เรือ
หลงมั่นใจว่า เรือรักษาระยะแต่ละลำไกลพอควร
ผมนอนทับตาข่ายอวนมองดูดาวพราวฟ้าไปตลอดทาง
ราวกับจะนำเรือลำน้อยไปสู่จุดหมายกลางทะเล
เห็นทางช้างเผือกพาดผ่านท้องฟ้ายามรัตติกาล ขณะรอบตัวมีแต่ความมืด
เป็นความปิติ สุข สงบ อย่างบอกไม่ถูก
เรือเริ่มโคลงเคลงมากขึ้น คลื่นลมแรง น้ำกระเซ็นเข้าสู่เรือ
เรือหัวโทงยังแล่นโต้คลื่นไปอีกสองชั่วโมง
จนเราเห็นเกาะตะรุเตาเป็นเงาสลัวขนาดใหญ่ทะมึนอยู่ด้านหน้า
หลงคอยดูจอมอนิเตอร์ของเครื่องเอคโค่ซาวเดอร์
อันเป็นอุปกรณ์ที่แสดงว่าใต้ท้องน้ำ มีฝูงปลาอยู่หรือไม่
สักพักเขาบอกว่าพบแล้ว เพื่อนร่วมงานเริ่มปล่อยตาข่ายอวนลงสู่ทะเล
ปล่อยลงด้านเดียวของเรือ ทุ่นธงสีแดงพาอวนลอยไปไกลเกือบหนึ่งกิโลเมตร
“ พี่รออีกชั่วโมงกว่านะ พอพระอาทิตย์ขึ้น สว่างแล้ว เราถึงจะลงมือสาวอวน”
หลงพูดพลางจุดบุหรี่ขึ้นสูบ ขณะที่เครื่องยนต์เรือดับลง ทำให้เรือโคลงมากขึ้น
คนออกทะเลทราบดีว่า หากจะเมาเรือ ก็อยู่ในช่วงเวลานี้แหละ
“ แต่ก่อนผมก็เป็นไกด์ พานักท่องเที่ยวมาเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง
แทบทุกเกาะแถวนี้แหละ แต่รายได้ไม่แน่นอน
จึงมาซื้อเรือเก่า มาซ่อมแซมออกจับปลาทู รายได้ดีกว่ากันเยอะ…
วันก่อนจับปลาได้เกือบหมื่นกว่าบาท วันนี้ไม่รู้จะได้เท่าไหร่”
หลง ผู้ดูลักษณะท่าทางการพูดจาเหมือนคนเมืองมากกว่า
จะเป็นชาวบ้านหาปลาคุยให้เราฟัง
ไม่นานอาทิตย์ดวงกลมโตค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาเหนือขอบทะเล
ขับแผ่นน้ำดูสว่างไสว เห็นระลอกคลื่นเป็นสีทองระยับ
หลงกับเพื่อนสวมถุงมือ เอาถังพลาสติกออกมาจากลัง
และเริ่มสาวอวนที่มีหน้ากว้างสองสามเมตรขึ้นมา
ไม่ถึงนาที ปลาทูตัวแรกก็ติดตาข่ายขึ้นมา
และตัวที่สอง สาม สี่ ..ก็ขึ้นมาต่อเนื่อง
สองหนุ่มช่วยกันแกะปลาทูออกจากตาข่ายโยนลงถัง ไม่นานถังก็เต็ม
เราช่วยกันยกปลาไปเทใส่ในลังพลาสติกขนาดใหญ่และตักน้ำแข็งโกยลงไป
เอาถังมาใส่ปลาทูอีก
มองไปรอบ ๆ เห็นเรือหัวโทงอีกหลายลำ สาวอวนจับปลาทูขึ้นมา
เรือแต่ละลำจะมีระยะไม่เข้าใกล้กัน เพื่อวางอวนไม่ให้พันกัน แต่หลงบอกว่า
“ มาจับปลาแถวนี้แทบทุกวัน ไม่มีคำว่าผิดหวัง
ปลาเยอะจริง ๆ แต่หากมีมรสุมก็ออกเรือไม่ได้ แบบวันนี้ก็เสี่ยงเอา”
ผมเห็นปลาดาบ ปลาอินทรี ฯลน ปะปนมาด้วย
มันคงติดตามมากินปลาทูจึงติดอวนมาด้วย
แต่มีปลาชนิดหนึ่งคล้ายปลาสิงโต ติดอวนมาทีไร
หลงจะเอาค้อนทุบก่อนจะโยนลงทะเล
บอกว่าเขี้ยวมีพิษมาก ชาวประมงเจอต้องทุบหัวแบน
การสาวอวนทำได้ค่อนข้างช้า ปลาติดอวนมาเยอะมาก
ต้องเสียเวลาแกะปลาออกจากตาข่าย
หลงบอกว่า ต้องไปถึงท่าเรือก่อนสิบโมงเช้า เพราะตลาดปลาเริ่มแล้ว
และปลาทูจะไม่สดหากไปถึงสายกว่านี้
แต่ผมยังเห็นทุ่นธงแดงอยู่ห่างไปหลายร้อยเมตร
หลงตัดสินใจสาวอวนขึ้นอย่างเดียว
ไม่ต้องแกะปลาเพื่อให้กลับทันเวลา
ดูเหมือนเรือทุกลำจะรู้เวลาดี ไม่นานเรือประมงพื้นบ้าน
ก็ทยอยกันแล่นเข้าฝั่ง
ชั่วระยะเวลาไม่ถึงสามชั่วโมง หลงจับปลาทูได้ร่วมสองร้อยกิโลกรัม
ประมาณสองพันกว่าตัว น้ำหนักปลาหนึ่งกิโลกรัม จะมีปลา ๑๐-๑๕ ตัว
ขายแม่ค้าได้ประมาณกิโลกรัมละ ๓๐-๕๐ บาท แล้วแต่ขนาดของปลา
เมื่อสาวอวนขึ้นมาหมด คาดว่าวันนั้นหลงน่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่าแปดพันบาท
สะท้อนความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเล
ไม่แปลกใจที่ปากปากบารามีเรือประมงพื้นบ้านร่วมห้าร้อยลำ
ผมนั่งตรงหัวเรือ ช่วยกันแกะปลาทูออกจากตาข่ายอวน
บางตัวโดนปลาอื่นกัดขาดไปครึ่งตัว ก็โยนกลับลงทะเล
เรือแล่นช้าลงจากน้ำหนักปลา โต้คลื่นโยกเยกมากกว่าตอนมา
แดดเริ่มแรง แต่ไม่มีแสงดาวนำทาง
ก่อนหน้านี้เพียงแปดชั่วโมง ในความมืดมิด ทะเลสีดำสนิท
มีแต่ดาวนับล้านระยิบระยับบนทางช้างเผือก ราวกับอยู่กันคนละโลก
เป็นการเดินทางในความทรงจำอันไม่รู้ลืมอีกครั้งหนึ่ง