ปัญหาหมอกควันพิษที่คนภาคเหนือเผชิญอยู่นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า
สาเหตุหลักมาจากการจุดไฟเผาพืชไร่ หลังการเก็บเกี่ยว
และพืชที่นิยมปลูกกันมากช่วงหน้าแล้งคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะกับการปลูกในพื้นราบ และบนดอย
แต่สาเหตุสำคัญที่ชาวไร่นิยมปลูกกันมาก
เพราะความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศสูงมาก
ทุกวันนี้การขยายตัวของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่บ้านเรา
ในการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคมีปริมาณสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งบริโภคภายในและส่งออกเนื้อสัตว์ ได้ทำให้ข้าวโพด
วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ มีไม่พอ
แต่ละปีมีความต้องการข้าวโพดมากถึง 8 ล้านตัน
แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตันเท่านั้น
ทำให้ต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ไม่แปลกใจว่า ทุก ๆ ปีจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดมากขึ้น
เพราะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โตขึ้นทุกปี
และอีกด้านหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ก็เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเมล็ดพันธุ์ที่มีรายได้มหาศาล
จากการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้กับเกษตรกร
ยิ่งปลูกข้าวโพดมาก เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดก็ขายได้มากขึ้น
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ การปลูกข้าวโพดในหน้าแล้งเป็นนโยบายของรัฐบาล
เพื่อลดพื้นที่ทำนา
รัฐบาลชุดนี้พยายามชักจูงให้เกษตรกรหยุดปลูกข้าวนาปรังในหน้าแล้ง
เพื่อลดการใช้น้ำ และลดปริมาณข้าวล้นตลาด ทำราคาตกต่ำ
หันมาปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยกว่า ได้ผลผลิตดีกว่า
ปีที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติโครงการต่อเนื่อง
เรียกว่า
“โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา”
สำหรับช่วงเดือน ก.ย.61 – ก.ย.62 เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพด
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยแถลงว่า
มีเกษตรกรแสดงความจำนงร่วมโครงการ 114, 775 ราย พื้นที่ 1,000,111 ไร่
และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทำสัญญาจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรที่จุดรับสมัคร
และสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เข้าให้ความรู้เกษตรกรอย่างใกล้ชิด
พร้อมตั้งจุดรับซื้อทุกอำเภอเพื่อซื้อผลผลิตข้าวโพดทุกเมล็ด
ดูเหมือนว่า ถนนทุกสาย นโยบายทุกอย่างของรัฐ มุ่งสู่การสนับสนุนให้ชาวไร่ปลูกข้าวโพด
เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร
ที่ต้องการข้าวโพดมาทำอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมหลักของบริษัทเหล่านี้
ทดแทนการนำเข้าที่มีต้นทุนสูงกว่า
จนทำให้ทุกวันนี้
ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเกือบ 7 ล้านไร่
และอยู่ทางภาคเหนือ 4 ล้านกว่าไร่
แต่ไม่รับรู้ว่า การผลิตข้าวโพด
คือสาเหตุใหญ่ของปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือ
ทุกปีในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตหน้าแล้ง
จะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งได้แก่เปลือกและซังข้าวโพด
ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปล่อยไว้และรอเผาทิ้งในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี
ซึ่งก่อให้เกิดควันจากการเผาไหม้
จากการประเมินพบว่าจะมีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้งจำนวน1.2 ล้านตัน/ปี
เปลือกข้าวโพดจำนวน 3.1 แสนตัน/ปี
ส่วนใหญ่เผากลายเป็นควันพิษในอากาศ และอีกส่วนฝังกลบเพื่อทำเป็นปุ๋ยต่อไป
แต่การฝังกลบเพื่อทำเป็นปุ๋ย ต้องจ้างรถไถเข้าไปไถกลบต้นข้าวโพด
อันเหมาะกับการปลูกข้าวโพดบนที่ราบ มากกว่าข้าวโพดบนเชิงเขาหรือบนดอย
ข้าวโพดที่ปลูกบนดอยหรือเชิงเขาติดป่า เมื่อจุดไฟเผาแล้วจึงลุกลามเข้าไปในป่าบนเขา
กลายเป็นไฟป่าที่ดับยากมาก
ก่อให้เกิดหมอกควันพิษเพิ่มมากขึ้นไปอีก
อย่าได้แปลกใจว่าเหตุใดคุณภาพอากาศในภาคเหนือจึงเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
และรวมถึงฝุ่นควันพิษจากการเผาไร่ข้าวโพดอีกหลายล้านไร่ ในประเทศเพื่อนบ้าน
ที่บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ไปส่งเสริมให้ปลูก
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ จึงไม่ใช่แค่การดับไฟป่าอย่างเดียว
แต่เป็นปัญหาระดับชาติ
ระหว่างนโยบายการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด
เพื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ กับสุขภาพของคนไทยหลายสิบล้านคน
เราจะรักษาความสมดุลอย่างไร
ถ้าข้าวโพดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ กระผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนเลิกปลูกข้าวโพด แล้วขอให้รัฐบาลส่งเสริมการปลูกพืชอื่นที่มีคุณค่าและราคามากกว่าเช่นกัญชา ทำให้ถูกกฏหมายเสีย การได้รับผลกระทบจากหมอกควัน และสิ่งแวดล้อมทำให้เิกิดผลเสียด้านสุขภาพเป็นวงกว้างต้องยับยั้งให้ได้หาทางออกให้ประชาชน ไม่ใช่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดและเผากันจนหายใจไม่ออก
LikeLike
ถ้าข้าวโพดที่ส่งเสริมให้ปลูกแทนข้าว แปลว่าปลูกในที่นาเดิม แล้วปกตินาเดิมนั่นเขาเผาทุกปีไหม แล้ว การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดไม่ได้ส่งเสริมการเผา หรือส่งเสริมคะ เอกชนที่ส่งเสริมปลูกข้าวโพดตามเขาต่างๆเลิกทำหรือยังคะ ที่ส่งเสริมขนาดขอถนนลากไฟฟ้า(ก็ไปขอการไฟฟ้า แต่เอาหน้าว่าตัวเองทำไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน) เขาเลิกส่งเสริมหรือยังคะ
LikeLike
ถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คงต้องลดความต้องการข้าวโพดเพื่อการเลี้ยงสัตว์ อย่างนั้นก็ต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง น่าจะดีต่อสุขภาพและช่วยลดปัญหาสภาพแวดล้อมได้บ้าง
LikeLike