ไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมในพรรคการเมือง?

 

53161795_2542316962508292_1524427246473838592_n

 

รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก มักขยันปั้มจีดีพีให้โตขึ้นทุกปี

อันเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

 

เมืองไทยก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการทำรัฐประหาร

ต้องเร่งสร้างผลงาน หวังได้คะแนนเสียงจากชาวบ้านด้วยการเร่งการเพิ่มจีดีพีของประเทศในทุก ๆทาง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง

มักจะบริโภคหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ แม่น้ำ ทะเล

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดมลพิษ มลภาวะอย่างรุนแรงทางอากาศ น้ำ

อย่างรวดเร็วจากการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

 

รัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีนโยบายเสียงดังฟังชัดเจนว่า จะมีวิธีการหรือมีโรดแม็บทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างไร

มีรูปธรรมชัดเจน อาทิการสร้างถนน ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เขื่อน โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ

 

แต่พอเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม จะพูดแบบเบาหวิว หรือ พูดรวม ๆ พอเป็นพิธี

แต่ไม่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนให้ปรากฏ

 

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่จึงเขียนแบบจับต้องไม่ได้

เขียนไว้ราวกับเป็นแบบไม้ประดับ ไร้ทิศทาง  ไร้แนวทางชัดเจน

ลองมาดูตัวอย่างนโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคการเมืองในอดีต

 

“มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แร่ธาตุ

ทะเลและชายฝั่ง บนพื้นฐานของความสมดุล ของธรรมชาติ

เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาแบบยั่งยืน”

 

หรือ

“เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดย

การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการไปสู่ ส่วนภูมิภาค

โดยส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน “

 

และหากจะโหนประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสมาแรงทั่วโลก ก็จะมีนโยบายสวยหรู

อาทิ ปลูกป่าลดโลกร้อน ส่งเสริมพลังงานทางเลือก  รณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก

 

มีพักหนึ่งที่คนสนใจปั่นจักรยานมาก เกือบทุกพรรคมีนโยบายสร้างทางจักรยาน

แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายนี้ก็หายเข้ากลีบเมฆ

 

พอพรรคใดเป็นรัฐบาล ก็มักแย่งตำแหน่งรมต.กระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ

ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงเกรดบี เกรดซี ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ

 

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. 2554 นิด้าโพล

ได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง

ปรากฎว่า ร้อยละ 86 ของผู้ตอบบอกว่าไม่เคยได้ยินนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองเลย

 

ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไม่เคยมีจริง ๆจัง ๆ

 

นักการเมืองหลายคนพยายามพูดให้น่าฟังว่า จะรักษาความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ

กับการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เอาเข้าจริงแล้ว

พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดมีความเชื่อว่า

นโยบายสิ่งแวดล้อม หาเสียงไม่ได้ นโยบายสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถสร้างผลงานเป็นรูปธรรม

เพื่อใช้ในการหาเสียงได้

นโยบายที่หาเสียงได้คือนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ

 

ยิ่งรัฐบาลทหารในปัจจุบัน หากมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใด

ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็พร้อมที่จะใช้ม.44 เข้าจัดการ

ยกเลิกการใช้กฎหมายบางมาตราทันที

ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม จึงเดินตามเศรษฐกิจเสมอมา

 

ตัวอย่างล่าสุด โครงการ EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

มูลค่าหลายล้านล้านบาท เพื่อยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น

“World-Class Economic Zone” สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม

และโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต

ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่

การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด

และการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม

 

แต่ไม่มีการพูดถึงมาตรการในการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ที่เคยมีบทเรียนอย่างหนักกรณีมลภาวะจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

มิหนำซ้ำยังผ่อนผันการทำอีไอเอ หรือกฎหมายผังเมือง เพื่อความรวดเร็วในการทำโครงการ

53728843_10156157914327361_9075799297026424832_n

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคที่ผ่านมา ทางชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้จัดการเสวนาเรื่อง

“ไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมในพรรคการเมือง”

โดยมีตัวแทนพรรคกรีน พรรคเกรียน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย

พรรคสามัญชนและพรรคอนาคตใหม่ มาร่วมพูดคุยและแถลงนโยบาย

 

น่าเสียดายที่พรรคพลังประชารัฐที่ตอบรับคำเชิญมานาน

กลับลำปฏิเสธไม่ยอมมาร่วมกระทันหัน ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ครั้งนี้หลายพรรคทำการบ้านมาค่อนข้างดี มีนโยบายที่ก้าวหน้า และเด็ดขาดคือ

 

ทุกพรรค จะยกเลิกพรบ.โรงงาน ที่เพิ่งผ่านสนช. อันเป็นพรบ.ที่นิยามโรงงานแบบใหม่

เป็นการทำลายสิ่่งแวดล้อมมาก

ทุกพรรค จะเข้าไปจัดการกับคำสั่งพิเศษในพื้่นที่ EEC ที่ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม

อาทิ ยกเลิกคำสั่งคสช. ที่ยกเว้นกม.ผังเมือง หรือ ไม่ต้องทำ EIA

ทุกพรรค ไม่เอายากำจัดวัชพืช พาราควอต

ทุกพรรค เห็นด้วยกับการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมว่า ใครทำร้ายสิ่งแวดล้อมมาก ต้องจ่ายภาษีมาก

 

อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่า

ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จะปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535 ให้ทันสมัยขึ้น

ปรับปรุงการทำ EIA EHIA ให้มีความเข้มข้น

แก้ไขPM 2.5 ด้วยการปรับคุณภาพน้ำมันดีเซล

สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้

อันเป็นการกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าที่ถูกผูกขาดโดยกฟผ.ฝ่ายเดียว

 

พรรคเพื่อไทย

มีนโยบาย green policy คือนโยบายเศรษฐกิจของพรรค ต้องไปในทิศทางเดียวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม

ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกทันที

เปลี่ยนรถยนต์ไปใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในห้าปี

พรรคอนาคตใหม่

ผลักดันสิทธิชุมชนเพื่อแก้ไขการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ

ทำให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ให้ความสำคัญกับสิทธิสัตว์

สร้างเศรษฐกิจจากขยะ ส่งเสริมโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะในเมืองใหญ่

 

พรรคสามัญชน

ยกเลิกการสร้างเขื่อนใหญ่ เปิดประตูเขื่อนปากมูล

กระจายการถือครองที่ดิน

ออกพรบ.โฉนดชุมชน

วัดค่าpm2.5 จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม

 

พรรคกรีน

ผลักดันพรบ.ธนาคารต้นไม้ ให้ต้นไม้เป็นทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์

ออกมาตรการการทำที่ดินทำกินทุกตารางนิ้วให้ชอบด้วยกฎหมาย

สนับสนุนไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม

 

พรรคเกรียน

สนับสนุนการผลิตสารคดีธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นหลังสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

จัดการขยะอย่างเป็นระบบ

จัดการปัญหาหมาแมวจรจัดทั้งระบบ

 

ทั้่งหมดนี้คือนโยบายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสวยหรู ก่อนการเลือกตั้ง

จับตาดูต่อไปว่า หากเป็นรัฐบาล หรือมีอำนาจแล้ว สิ่งที่เคยหาเสียงไว้กับความเป็นจริง

จะสวนทางเหมือนกับคำสัญญาที่ให้ไหม

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s