
มีคนเคยกล่าวว่า ในชีวิตคนเราจะมีความศรัทธาในชีวิตได้ไม่กี่อย่าง
เมื่อศรัทธาแล้วมักจะทุ่มเททำเพื่อสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
บางคนศรัทธาในพระเจ้า
บางคนศรัทธาในเงินทอง
แต่ผู้ชายคนนี้ศรัทธาในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า นกเงือก
เขาทุ่มเทชีวิตตลอดยี่สิบกว่าปี
เพื่อทำให้นกเงือกในป่าลึกใต้สุดของประเทศรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์
คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักนกเงือกว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
พูดถึงนกเงือกหลายคนยังนึกเป็นภาพนกทูแคนในทวีปอเมริกาใต้
นกเงือกในเมืองไทยมีอยู่ในป่าไม่กี่แห่ง อาทิ ป่าห้วยขาแห้ง ป่าเขาใหญ่ ป่าฮาลา บาราและป่าบูโด นราธิวาส
นกเงือกเป็นนกโบราณ ถือกำเนิดมาเมื่อ 50 ล้านปี และเป็นนกที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดในป่า จากการกินผลไม้ เมล็ดพืช และบินไปตามที่ต่าง ๆ ขับถ่ายเมล็ดพันธุ์ไปทั่วป่า
นกเงือกจึงเป็นนกที่มีความสำคัญในระบบนิเวศน์มาก
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มูลนิธินกเงือกโดยดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญนกเงือกระดับโลก
ผู้ริเริ่มโครงการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาของนกเงือก
โครงการศึกษาวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลกร่วมสามสิบปี ได้ส่งเด็กหนุ่มนามปรีดา เทียนส่งรัศมี ลงมาสำรวจนกเงือกบริเวณเทือกเขาป่าบูโด จังหวัดนราธิวาส
ปรีดาจบจากโรงเรียนเพาะช่างและสถาบันราชภัฎสวนดุสิต
ชีวิตที่ผ่านมาทุ่มเทให้แก่การศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจัง โดยเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยนกเงือกที่
เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง และล่าสุดที่เทือกเขาบูโด
สมัยก่อนแถวเทือกเขาบูโด แทบจะไม่มีคนนอกพื้นที่กล้าเข้ามาทำงาน
จากปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จนกระทั่งปี 2537 มีชาวบ้านมาบอกอาจารย์พิไลว่า พบนกเงือกหัวแรด
ตอนนั้นนกชนิดนี้เป็นนกหายากซึ่งคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว

พออาจารย์พิไลเข้ามาสำรวจ ก็พบว่ายังมีนกเงือกหัวแรด และพบนกเงือกชนิดอื่น ๆ อีก 5 ชนิด
คือ นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกปากดำ
รวมเป็น 6 ชนิดจากจำนวนนกเงือกในเมืองไทยที่มี 13 ชนิด
นกเงือกยังเป็นดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพราะใช้พื้นที่หากินกว้างขวางแล้ว
นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงรังเองได้ต้องอาศัยโพรงจากธรรมชาติ เช่นนกหัวขวานหรือเกิดจากเชื้อราเป็นต้น แล้วจึงเข้าไปใช้โพรงเพื่อเป็นรังต่อไป
แต่จากการสำรวจของปรีดาพบว่าสถานการณ์ของนกเงือกไม่สู้ดีนัก
เพราะเทือกเขาบูโดมีหมู่บ้านชาวมุสลิมตั้งอยู่ล้อมรอบ ชาวบ้านเริ่มรุกป่า
ตัดไม้เถื่อนมาขายมากขึ้น และมีการขโมยลูกนกเงือกในรังไปขายเป็นประจำทุกปี
“คนมุสลิมไม่กินนกใหญ่ ไม่กินนกที่โฉบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
ชาวมุสลิมไม่ล่านกเงือกกินเป็นอาหาร แต่ยอมรับว่าในอดีตขโมยลูกนกเงือกมานับสิบปีแล้ว”
ชาวมุสลิมคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟัง
ลูกนกเงือกเป็นของเล่นสำหรับคนมีเงิน มีคนรับซื้อถึงตัวละ 5,000บาท
แต่หากลักลอบขนลูกนกเงือกเหล่านั้นมาขายที่ตลาดอตก. ในกรุงเทพฯ จะได้ราคาดีมาก
คือ นกเงือกหัวหงอกตัวละ 3 หมื่นบาท นกชนหินตัวละ 2 หมื่นบาท

มูลนิธินกเงือกจึงเริ่มโครงการ”อุปการะนกเงือก” ขึ้นมาเพื่อหาทุน โดยให้คนที่รักนกเงือก
ได้บริจาคเงินเพื่อดูแลนกเงือกทั้ง 6 ชนิดในป่าบูโด โดยรับเป็นผู้อุปการะ ครอบครัวนกเงือกแต่ละรัง
ที่ชาวบ้านดูแล แล้วชาวบ้านจะส่งรูป ส่งรายงานสถานะของครอบครัวนกเงือก ให้กับผู้อุปการะทุกระยะ
ปรีดาเข้าหาชาวบ้าน พยายามให้ชาวบ้านรอบ ๆ เทือกเขาเห็นคุณค่าของนกเงือก
และชักชวนให้คนที่เคยจับลูกนกเงือก หรือเจ้าของสวนที่มีต้นไม้ที่นกเงือกทำรังมา
ร่วมกันอนุรักษ์นกเงือก โดยเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนกเงือก
หากชาวบ้านพบนกเงือกเข้ารังตามต้นไม้ใหญ่แล้วมารายงาน
ทางโครงการฯ จะให้เงินเป็นรางวัลตามความยากง่ายของชนิดนกเงือก
ทดแทนรายได้ที่หายไปจากการขโมยลูกนกและตัดไม้เถื่อน
ช่วงนี้ชาวบ้านจะมีรายได้จากค่าแรงที่ทางโครงการฯ จะจ่ายเงินให้
แต่งานของพวกเขายังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังต้องซ่อมแซมรัง ทำโพรงเทียม
ที่ต้องปีนต้นไม้สูงกว่า 30 เมตร เพื่อช่วยให้นกเงือกเข้ารังมากขึ้น
ปัจจุบัน มีชาวบ้านตั้งแต่คนสูงอายุจนถึงวัยรุ่นและเด็ก ทั้งหญิงชาย
ทำงานกับโครงการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาของนกเงือก 35 คน
และมีรายได้พอสมควรจากโครงการอุปการะนกเงือก ที่ได้เงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป
ปรีดาเล่าให้ฟังว่า
“ตอนแรกผมต้องเข้าหาชาวบ้านอย่างอดทน เพื่อชักจูงให้พวกเขามาอนุรักษ์นกเงือก
ตั้งแต่การสื่อสารที่พูดภาษายาวีไม่ได้ บางทีโดนข่มขู่จนแทบเอาชีวิตไม่รอด เพราะความไม่เข้าใจ”
แต่ในที่สุดชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดเริ่มเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก
และกลายมาเป็นผู้อนุรักษ์นกเงือกจำนวนมาก
ปรีดายังเชื่อว่า การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์
ทดแทนรายได้ที่ได้จากการขายลูกนกราคาตัวละครึ่งหมื่นบาท
25 ปีผ่านไป ปรีดาและชาวบ้านช่วยให้ลูกนกเงือกในป่าบูโด 600 กว่าตัวมีชีวิตรอด
ทำให้ชาวบ้าน และเยาวชนรอบๆป่า หันมาช่วยกันดูแลนกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ให้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์นกเงือก
และช่วยลดปัญหาสังคม จากเด็กวัยรุ่นที่เคยเที่่ยวเตร่ หรือติดยาเสพติด เมื่อมาช่วยดูแลนกเงือก
สามารถมีรายได้จากที่ไม่มีอะไรทำ
นกเงือกแถวนี้จึงมีชาวบ้านหนุนหลังเป็นหลักค้ำประกันความปลอดภัย
แม้เมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้. แต่การทำงานของคนรักนกเงือกไม่ได้ลดลง
ยังมุ่งมั่นทำงานต่อไปจนทุกวันนี้ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยาน
ตำรวจ ทหาร ชาวบ้าน ภาคเอกชน และรวมถึงคู่ขัดแย้งของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทุกวันนี้มีชาวบ้าน 5 หมู่บ้านรอบๆเทือกเขาบูโดคอยปกป้องดูแลนกเงือกร่วมพันตัว
ความสำเร็จในการอนุรักษ์นกเงือกได้ทำให้ ปรีดาต้องเดินทางไปเป็นวิทยากรช่วยเผยแพร่ในป่าแห่งอื่นๆ
และเลยไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย แหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกเงือก
การอนุรักษ์และงานวิจัยนกเงือกในเมืองไทยก้าวหน้าในระดับโลก
ขณะที่หนุ่มจากเพาะช่างผู้ไม่เคยมีพื้นฐานด้านชีววิทยา กลายเป็นนักวิจัยนก
ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ให้การยอมรับว่าองค์ความรู้ใหม่ๆของนกเงือกมาจากงานวิจัยที่จริงจังของปรีดา
รายการสารคดีระดับโลกแทบทุกรายการ อาทิ National Geographic, BBC, NHK.ฯลฯ
ต่างมาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีนกเงือกในเมือไทย ภายใต้การแนะนำของปรีดา
ออกฉายไปทั่วโลกหลายครั้ง
เพราะความศรัทธา ของคนตัวเล็กๆ ผู้มุ่งมั่นความรักนกเงือก
หลายสิ่งอันงดงามจึงบังเกิดขึ้น
หมายเหตุ: ร่วมบริจาคเงินอุปการะครอบครัวนกเงือกได้ทาง
บัญชีออมทรัพย์
“มูลนิธินกเงือก”
เลขบัญชี 026-2-75910-2
ธนาคารไทยพาณิชย์สาขารามาธิบดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร.02-201-5532
hornbilladoption@gmail.com
